วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2550

สุนทรภู่....

ในตอนนี้ก็ใกล้ถึงวันสุนทรภู่แล้ว เราก็เลยอยากจะมาทำอะไรเกี่ยวกับสุนทรภู่หน่อย....เอ้า!!มาดูกันเลย

ประวัติสุนทรภู่

สุนทรภู่เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ ในรัชกาลที่ ๑ บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฏ ทราบเพียงว่ามารดามีเชื้อสายผู้ดี เเละทำหน้าที่เป็นแม่นมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ส่วนบิดานั้นบวชเป็นพระอยู่ที่วัดบ้านกร่ำ อำเภอเเกลง จังหวัดระยอง เมื่อสุนทรภู่โตพอสมควร มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน ครั้นมีความรู้ดีเเล้ว มารดานำไปฝากเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง เเต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไปเป็นเสมียน สุนทรภู่รับราชการไม่ก้าวหน้านัก เพราะติดนิสัยรักกาพย์กลอน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงเป็นที่โปรดปรานให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร" ( ภู่ ) เรียกกันสั้นๆ ว่า "สุนทรภู่ " ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น " พระสุนทรโวหาร " เเละถึงเเก่กรรมเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุได้ ๗๐ ปี

ผลงาน
หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่เเต่งมีมากมาย ที่ได้ยินเเต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเเล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องก็มี เเต่เรื่องที่ยังมีต้นฉบับอยู่ในปัจจุบันมี ๒๔ เรื่อง คือ - นิราศ ๙ เรื่อง ได้เเก่ นิราศเมืองเเกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระเเท่นดงรัง นิราศพระปฐม เเละนิราศเมืองเพชรบุรี - นิทาน ๕ เรื่อง ได้เเก่ โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ เเละ สิงหไตรภพ - สุภาษิต ๓ เรื่อง ได้เเก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท เเละสุภาษิตสอนหญิง - บทละคร ๑ เรื่อง คือ เรื่องอภัยนุราช - บทเสภา ๒ เรื่อง ได้เเก่ ขุนช้างขุนเเผน ตอนกำเนิดพลายงาม เเละเรื่องพระราชพงศาวดาร - บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้เเก่ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี เเละเห่เรื่องโคบุตร

สุนทรภู่ จินตกวีผู้ปั้น“พระอภัยมณี”
ในบรรดากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “สุนทรภู่” ได้ชื่อว่า เป็นกวีเอกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะผลงานเรื่อง“พระอภัยมณี”นับเป็นงานชิ้นเอกที่มีการนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆมากมาย รวมทั้งมีการวิเคราะห์เจาะลึกแทบทุกแง่ทุกมุม เพราะเป็นกวีนิพนธ์ที่มีความยาวถึง ๙๔ เล่มสมุดไทย (สมุดที่ทำด้วยกระดาษข่อย แผ่นยาวๆ หน้าแคบ พับทบไปทบมาคล้ายผ้าจีบ) เรียกได้ว่ายาวที่สุดในโลกก็ว่าได้ ข้อสำคัญคือ เป็น “จินตนิยาย” ที่มิได้นำมาจากชาดก หรือนิทานพื้นบ้านอย่างที่วรรณคดีไทยส่วนใหญ่นิยมเขียนกัน แต่กลับมีเค้าโครงเรื่องที่แปลกและล้ำยุคยิ่ง ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องล้วนชวนตื่นเต้น เร้าใจให้ติดตามอ่านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะพระเอกของเรื่องคือ”พระอภัยมณี”
“พระอภัยมณี”ของท่านสุนทรภู่นับเป็นพระเอกที่แหวกไปจากขนบของพระเอกทั้งหลายในยุคนั้น ด้วยว่าพระเอกอื่นๆในวรรณคดีส่วนใหญ่ ล้วนไปเรียนศิลปศาสตร์หรือพวกรัฐศาสตร์ไว้ปกครองบ้านเมืองทั้งนั้น แต่ “พ่ออภัยฯ” ของเรากลับไปเรียน “วิชาเป่าปี่” ซึ่งสมัยนี้จะว่าไปจบวิชา“ดุริยางคศิลป์”มาก็น่าจะได้ ดังนั้น“พระอภัยมณี” จึงถือได้ว่าเป็น“พระเอกนักดนตรีคนแรกของไทย”เป็น“พระเอกศิลปิน”ที่ท่านสุนทรภู่ปั้น ไว้ประดับวงการวรรณคดีไทยเป็นคนแรก และน่าจะเป็นคนเดียวด้วย เพราะวรรณคดีสมัยหลังๆก็ยังไม่ปรากฏว่ามีพระเอกศิลปินนักดนตรีคนใดอีก กล่าวได้ว่าจินตนาการและแนวคิดในการสร้างพระเอกของท่านล้ำหน้า ก้าวไกลเกินยุคเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา
เพราะถ้า “พระอภัยมณี” เกิดสมัยนี้ ต้องเป็นศิลปินที่ดังระเบิดไม่แพ้แดนหรือบีม และคงเป็นที่ “กรี๊ดสลบ”ของสาวแก่แม่ม่ายหรือแม้แต่หนุ่มด้วยกันเองเป็นแน่ ด้วยว่าเป็นพระเอกที่ครบสูตรเพียบพร้อมด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิและชาติวุฒิคือ เป็นหนุ่มหน้าตาหล่อเหลา จบนอก(เพราะไปศึกษาต่างแดน) และเป็นลูกเจ้าเมือง ฐานะไม่ต้องพูดถึง แม้ชีวิตต้องระหกระเหินพราะพระบิดาขับไล่ออกจากเมืองรัตนาพร้อม ”ศรีสุวรรณ” พระอนุชาก็ตาม แต่ภายหลังก็ได้เป็นกษัตริย์ครอบครองบ้านเมือง นอกจากนี้ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระเอกที่เจ้าเสน่ห์ไม่แพ้พระเอกอื่นๆในวรรณคดีเลย เพราะมีเมียถึง ๕ คน เมียแต่ละคนก็มีบุคลิกลักษณะที่ไม่เหมือนใครดังจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
ก่อนอื่น ขอเท้าความให้เห็นก่อนว่าเหตุใดพระอภัยมณี พระเอกของเราจึงได้ลงเรียนวิชาเป่าปี่ ซึ่งต้องเดินทางไปเรียนกับ พิณทพราหมณ์ ณ หมู่บ้านจันตคาม ซึ่งโดยส่วนตัวพระอภัยมณีเองก็คงเห็นว่าการเรียนวิชาดนตรีนั้นช่วยให้ดับทุกข์โศกได้ ดังกลอนที่ว่า“ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลก ได้ดับโศกสูญหายทั้งชายหญิง” ดังนั้น เมื่อครูพราหมณ์บรรยายสรรพคุณของวิชาเป่าปี่ให้ฟังซ้ำอีก ก็ยิ่งมั่นใจอยากเรียนยิ่งขึ้น โดยครูบอกว่า “แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่ ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยินก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง”
นอกจากนี้ “ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง” เรียกว่าเรียนวิชานี้อย่าว่าแต่สัตว์จะเคลิ้มจนลืมกินน้ำกินหญ้าเลย แม้แต่ใช้สะกดทัพก็ยังได้ ครั้นเรียนจบกลับเมือง ถูกพระบิดาขับไล่ออกมาเพราะเห็นว่าวิชาที่สองพี่น้องไปเรียนไม่สมฐานะ ไปเจอสามพราหณ์ระหว่างทางที่พเนจรและสงสัยในวิชาเป่าปี่ พระอภัยมณีก็ยังมั่นใจในวิชาที่เรียนมา
โดยบรรยายว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์ ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่า พนาสิน แม้ปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง” ถ้าเป็นสมัยนี้คงไม่ต้องบรรยายมาก เพราะการเรียน “ดนตรี” มิใช่วิชา “เต้นกินรำกิน” อย่างที่คนสมัยก่อนดูถูกแล้ว แต่กลับเป็นหนทางก้าวหน้าและทำให้หลายคนได้เป็นดารานักร้องนักแสดงระดับแนวหน้าของประเทศด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี สมัยโน้น การเรียนวิชาดนตรีส่วนใหญ่จะเรื่องของพวกผู้หญิงชาววังและพวกที่ต้องแสดงถวายมากกว่าจะเป็นวิชาของลูกกษัตริย์ ดังนั้น พระอภัยมณีจึงถูกพ่อกริ้ว แม้ว่าวิชาปี่ที่เรียนจะไม่ธรรมดาก็ตาม แต่ก็คงไม่ทันได้อธิบายความก็โดนไล่มาเสียก่อน
ในระหว่างเป่าปี่ให้สามพราหมณ์และศรีสุวรรณฟังจนเคลิ้มหลับไปนี่เอง เสียงปี่ของพระอภัยมณีก็ล่องลอยไปกระทบหูนางผีเสื้อสมุทร ซึ่งออกมาหากิน จนนางตามเสียงปี่ไปเจอพระเอกของเราเข้า ก็เกิดอาการ“ปิ๊ง” ขึ้นมาทันที แสดงว่าพระอภัยฯต้องหล่อ “โดนใจ”ไม่น้อย ไม่งั้นนางคงไม่อุ้มพระอภัยมณีไปเป็นสามีในถ้ำทองของนาง จนเกิด “สินสมุทร” ในเวลาต่อมาแน่ นางผีเสื้อสมุทรจึงนับเป็นเมียคนแรกของพระอภัยมณี แม้จะไม่เป็นที่ยินยอมพร้อมใจในตอนแรกเท่าไรนัก (นี่ก็อาจเป็นที่มาของการเรียกเมียที่บ้านเวลาไม่พอใจว่า“นางผีสมุทร” ก็ได้ ช่างว่านัก!)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิชาเป่าปี่ที่พระอภัยมณีไปเรียนมานี้ มิใช่วิชาดนตรีธรรมดาทั่วไป ดังนั้น พระอภัยมณีพระเอกศิลปินเราจึงมิได้เป่าอย่างพร่ำเพรื่อ เรียกว่าเปิดคอนเสิร์ตปี่แต่ละครั้ง ล้วนมีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ ซึ่งตามท้องเรื่องจะเป่าปี่ประมาณ ๑๒ ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกที่เป่าบรรยายให้สามพราหมณ์ฟัง จนนางผีเสื้อสมุทรเอาไปเป็นสามี ครั้นต่อมาเมื่อหนีนางผีสมุทรมาอยู่เกาะแก้วพิศดารก็ได้นางเงือกเป็นเมียอีกคน พร้อมลูกคือ”สุดสาคร”
ต่อมาได้ ถูกนางผีเสื้อสมุทรไล่ตามอาละวาด พระอภัยมณีได้พยายามขับไล่ให้กลับไป แต่นางไม่ยอม จึงจำเป็นต้องเป่าปี่เป็นครั้งที่สอง ซึ่งเสียงเพลงคงบีบคั้นหัวใจไม่น้อย นางจึงขาดใจตายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนการเป่าในครั้งต่อๆมาส่วนใหญ่จะเพื่อปลุกทัพหรือสะกดทัพให้ได้ชัยชนะต่อศัตรู
รวมทั้งมีการเป่าปี่เพื่ออ้อนสาว คือ นางละเวง ด้วย ซึ่งเสียงปี่ของพระอภัยมณีตอนจีบนางละเวงนี้ ทำให้นางถึงกับ “ตะลึงลืมปลื้มอารมณ์ไม่สมประดี ด้วยเพลงปี่เป่าเชิญให้เพลินใจ จนลืมองค์หลงรักชักสินธพ(ม้า) กลับมาพบพิศวงด้วยหลงใหล” และยังว่า “ถ้าขืนอยู่สู้อีกไม่หลีกเลี่ยง ฉวยพลั้งเพลี้ยงเพลงปี่ต้องมีผัว” แสดงเพลงปี่ของพระเอกเราคงมีอิทธิพลต่อผู้ฟังไม่น้อยเลยทีเดียว
สำหรับเมียพระอภัยมณี ที่ว่ามีด้วยกัน ๕ คนและแต่ละคนก็ต่างกันอย่างมากนั้น ได้แก่ นางผีเสื้อสมุทรเป็นเมียคนแรกที่เป็นยักษ์ ส่วน นางเงือก เป็นเมียที่สอง นางสุวรรณมาลีเป็นเมียคนที่สาม แต่เป็นเมียมนุษย์คนแรก ส่วนนางละเวงวัณลา เป็นเมียคนที่สี่และเป็นชาวต่างชาติ นางวาลีเป็นเมียคนที่ห้าซึ่งเป็นเมียที่ขี้เหร่ที่สุด แต่เดิมพระอภัยมณีก็มิได้อยากได้นาง
แต่นางเป็นคนเจ้าปัญญาและมีวาจาเป็นเลิศ สามารถพูดให้นางสุวรรณมาลีแต่งกับพระอภัยมณี และพูดจนอุศเรนอกแตกตายได้ ข้อสำคัญคือสามารถหว่านล้อมพระอภัยมณีจนใจอ่อนยอมรับนางเป็นชายาอีกคน อย่างไรก็ดี การมีเมียถึง ๕ คน ซึ่งมีทั้งสวยแปลง สวยแปลก สวยงาม สวยต่างแดน และสวยปัญญาเช่นนี้ ก็ย่อมแสดงว่า “พระอภัยมณี” มีเสน่ห์ไม่เบา ถึงเป็นขวัญใจสาวๆทั้งยักษ์ เงือกและมนุษย์อย่างที่ว่า
“พระอภัยมณี” ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอน และเป็น “จินตนิยาย”ที่แสดงให้เห็นถึงจินตนาการที่กว้างไกลอันล้ำยุค เกินสมัยยิ่งของ “สุนทรภู่ ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ ๒๑๙ ปีเกิดของท่านในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ อันเป็น “วันสุนทรภู่” นี้ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้หน่วยงาน สถานศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการประชุม อภิปราย นิทรรศการ การแสดง การประกวดแข่งขัน ฯลฯเกี่ยวกับผลงานของท่าน เพื่อให้ประชาชน เยาวชนได้ทราบและเรียนรู้การใช้ภาษาไทยที่ลึกซึ้ง ไพเราะ มีคติสอนใจ
ข้อสำคัญเพื่อน้อมรำลึกถึง “สุนทรภู่ รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” บรมครูกลอนแปด กวีเอกของไทยที่มีความสามารถไม่รองชาติใดในโลก ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกคนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: