วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2550

...ในหลวงกับ...การศึกษา..ไทย...*-*

















ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาถึง ๕๐ ปี นับจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ชาวไทยทั้งปวงก็ได้ตระหนักดีว่า พระองค์มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ของพระองค์ มิได้ทรงเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในการพระราชทานความช่วยเหลือบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรของพระองค์แต่อย่างใด ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พรั่งพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นเยี่ยงอย่างในการพัฒนา ในแต่ละปีทรงอุทิศเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารหมุนเวียนไปทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงยอมตรากตรำพระวรกายเพื่อปวงประชาด้วยการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ อันยังประโยชน์สุขแก่ประเทศ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาโดยตลอด
งานสำคัญประการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย และให้ความสำคัญเสมอมาก็คืองานด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็น
เรื่องของการพัฒนาคนโดยตรง ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๐ ความตอนหนึ่งว่า
"…งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น…"
พระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย และเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและหน่วยปฏิบัติการทหารตำรวจตามบริเวณชายแดนทุรกันดารอยู่เนืองๆ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชน อันเนื่องมาจากการให้บริการของรัฐไม่ทั่วถึง และมีปัญหาเรื่องการแตกแยกในอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เยาวชนบางส่วนขาดโอกาสทางการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียน เพื่อให้ทหารมีส่วนช่วยเหลือประชาชนด้านการศึกษา ตามโอกาสอันควร โดยให้แม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน พระราชทานนามว่า "โรงเรียนร่มเกล้าฯ" นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์" อนึ่งพระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของเยาวชนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดือดร้อนจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ จึงทรงพระเมตตารับอุปถัมภ์ ให้กำลังใจแก่เยาวชนที่ขาดแคลนเหล่านี้ อันได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน




ไม่มีความคิดเห็น: